วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การตอนกิ่ง

การตอนกิ่ง (Layering)

 

      การตอนกิ่ง  เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ใช้กันมานานและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวสวน ทั่วๆไป  วิธีการตอนกิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นวิธีการที่ได้นำมาจากประเทศจีน แต่ได้ดัดแปลงไปบ้างเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ ในยุโรปและอเมริกาก็มีวิธีขยายพันธุ์พืชด้วยการตอนกิ่งเช่นเดียวกัน แต่วิธีการในการตอนกิ่งผิดไปจากวิธีที่รู้จักกันดีในบ้านเราและเรามักเรียก วิธีการตอนกิ่งแบบยุโรปว่า  "การตอนทับกิ่ง"  ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือการตอนกิ่งแบบตอนหุ้มกิ่ง ซึ่งมีวิธีการตอนหุ้มกิ่งหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือการตอนทับกิ่งแบบชาวยุโรป  โดยหลักการในการ ตอนต้นพืชแล้วก็คือ การทำให้ต้นหรือกิ่งพืชออกรากขณะที่ยังติดอยู่กับต้นแม่ หลังจากต้นหรือกิ่งพืชออกรากดีแล้วจึงตัดไปปลูกภายหลัง  ฉะนั้นโอกาสของการที่กิ่งพืชจะมีชีวิตอยู่รอด จึงดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการตัดชำ แต่ก็มีข้อเสียอยู่ที่ว่าขยายได้ช้ากว่า  ด้วยเหตุนี้ถ้าต้องการต้นพืชจำนวนมากๆ แล้วมักจะไม่ใช้การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง  เว้นแต่ต้นพืชนั้นจะขยายพันธุ์ไม่ได้ด้วยการตัดชำ หรือออกรากยากกว่าการตอนกิ่งเท่านั้น การตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นวิธีที่ใช้ในการตอนกิ่งพืชพวกไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งพืชพวกไม้ผลและไม้ประดับ เช่น  ลำไย  ลิ้นจี่  ละมุด  ส้มเขียวหวาน  ส้มโอ  กระท้อน  กุหลาบ  มะลิ  ดอนย่า  เป็นต้น  การออกรากของ กิ่งตอน จะขึ้นอยู่กับความชื้น การถ่ายเทอากาศ และระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ถ้าปล่อยให้ดินหรือวัสดุหุ้มกิ่งแห้งโดยมิได้ดูแล ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดรากได้เช่นกัน  ดังนั้น ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดในการตอนกิ่ง ควรเป็นฤดูฝน การตอนกิ่ง  ใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะพืชบางชนิดที่ไม่สามารถออกรากได้โดยใช้วิธีตัดชำ  แต่ออกรากได้โดยวิธีตอนกิ่ง  สามารถทำได้ง่ายทั้งกลางแจ้งและในเรือนเพาะชำ  นอกจากนี้ กิ่งตอนยังมีจำนวนรากมากกว่ากิ่งตัดชำ เมื่อนำไปปลูก จึงมีโอกาสตั้งตัวได้เร็วและมีเปอร์เซ็นต์การตายน้อยกว่ากิ่งตัดชำ  ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ  พืชต้นใหม่ที่ได้จากการตอน จะมีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ย  จึงสะดวกต่อการดูแลปฏิบัติบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะไม้ประดับ จะได้ทรงพุ่มที่สวยงาม  เป็นต้น  แต่กิ่งตอนมีข้อเสีย คือ พืชที่นำไปปลูกเมื่อโตเต็มที่จะล้มง่าย เพราะไม่มีรากแก้ว
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตอนกิ่ง
     ๑) การทำให้เกิดการสะสมอาหารและสารบางชนิดที่จำเป็นต่อการงอกราก ในบริเวณที่ทำการตอน โดยวิธีการทำให้กิ่งเกิดแผล เพื่อตัดท่อลำเลียงอาหารของพืชในส่วนอื่นๆ จึงเกิดการสะสมอาหารและสารบางอย่างขึ้นเหนือแผลที่ทำการตอน
     ๒) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการงอกรากของพืช เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และแสงสว่าง
     ๓) การดูแลรักษา ควบคุมความชื้นหรือการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย อันเกิดจากศัตรูอื่นๆ เช่น มด แมลง สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่ง
     ๑) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์ (Cutter) หรือมีดติดตาต่อกิ่ง
     ๒) ถุงพลาสติกขนาด ๒x๔ นิ้ว หรือ ๓x๕ นิ้ว
     ๓) วัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น กาบมะพร้าว ถ่านแกลบหรือขุยมะพร้าว
     ๔) เชือกมัดวัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น เชือกฟาง
     ๕) ฮอร์โมนเร่งราก
ส่วนวิธีการตอนนั้นปฏิบัติเป็นขั้นๆ ดังนี้
     ๑). การเลือกกิ่ง  กิ่งหรือต้นพืชที่จะตอนจะต้องเป็นกิ่งไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป  ใบงาม ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ โดยปกติมักจะเลือกกิ่งกระโดง ซึ่งอาจจะเป็นกิ่งกระโดงตั้ง หรือกระโดงครีบ ก็ได้  กระโดงตั้ง คือกิ่งที่เจริญตั้งตรง เป็นกิ่งที่เจริญแข็งแรง การจัดกิ่งย่อยภายในกิ่งเจริญสม่ำเสมอทุกด้าน กระโดงครีบ เป็นกิ่งที่เจริญด้านเดียว มักเป็นกิ่งเอน และมักเป็นกิ่งย่อยของกิ่งกระโดงตั้ง
     ๒). การทำแผลบนกิ่ง  การทำแผลบนกิ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของพืช  และความยากง่ายในการงอกราก ซึ่งบางพืชอาจไม่ต้องทำแผลเลยก็สามารถออกรากได้  ส่วนใหญ่มักเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ต้นสาวน้อยประแป้ง  พลูด่าง  และพลูฉีก พืชบางชนิด อาจใช้วิธีกรีดเปลือกตามยาวของกิ่ง  เช่น  กุหลาบ ยี่โถ  หรือพืชบางชนิดอาจปาดท้องกิ่ง  เช่น  ต้นชวนชม  แต่มีบางชนิดที่ต้องควั่นกิ่งโดยเฉพาะพืชที่ออกรากยาก  มีความจำเป็นที่จะต้องทำแผลโดยการควั่นกิ่ง เพราะการควั่นนอกจากจะทำให้เกิดบริเวณออกรากแล้ว ยังมีผลเกี่ยวกับการสะสมธาตุอาหารรวมทั้งสารฮอร์โมน ให้เกิดขึ้นภายในกิ่งซึ่งจะมีผลดีในการออกรากด้วย  ดังนั้นเพื่อความแน่นอนในเรื่องการออกราก  ชาวสวนทั่วไปจึงใช้วิธีการทำแผลด้วยการควั่นกิ่งแทบทั้งสิ้น
     ๓). การทาฮอร์โมน  การใช้ฮอร์โมนเร่งรากทาบริเวณที่ทำแผล หรือบริเวณที่กิ่งจะเกิดราก จะช่วยให้กิ่งพืชเกิดรากดีขึ้น  คือ มีรากมากขึ้น รากเจริญเร็วขึ้น และอาจออกรากเร็วขึ้น  การทาฮอร์โมนปกติจะทาเฉพาะบริเวณที่จะเกิดรากเท่านั้น เช่น บริเวณที่เป็นรอยกรีด  หรือรอยปาด  หรือรอยควั่นตอนบนเท่านั้น และการที่จะใช้ฮอร์โมนตอนต้นพืชฃชนิดใดนั้น ควรจะได้ศึกษาหรือทดลองมาก่อนเพราะต้นพืชแต่ละชนิดออกรากยากง่ายต่างกัน โดย ปกติต้นพืชที่ออกรากไม่ยาก  อาจใช้ฮอร์โมนชนิดอ่อนหรือที่มีความเข้มข้นน้อยๆ ก็เพียงพอ ส่วนต้นพืชที่ออกรากยากๆ จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนแรงๆ หรือที่เข้มข้นมากๆ ตามลำดับ  การใช้ฮอร์โมนที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวนี้  นอกจากจะไม่ได้ผลดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายกิ่งพืชที่ตอน และทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
     ๔). การหุ้มกิ่งตอน  วัตถุที่จะใช้หุ้มกิ่งตอนอาจใช้วัตถุต่างๆ ได้หลายอย่าง  ข้อสำคัญก็คือวัตถุนั้นๆ ต้องอมความชื้นได้พอ ไม่เป็นพิษกับกิ่งพืช มีราคาถูก  และหาได้ง่าย  เช่น หญ้ามอสส์ (sphagnum moss) กาบมะพร้าวชุบน้ำ  ปุยมะพร้าว ผ้ากระสอบป่าน  หรือรากผักตบชวา  แม้กระทั่งดินธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปใช้ก็ได้ แต่วัตถุที่นิยมใช้จะ ต้องสะดวกต่อการหุ้ม เช่น ใช้กาบมะพร้าวชุ่มน้ำทุบให้แผ่ ตัดเป็นท่อนให้พอเหมาะกับขนาดกิ่งตอนซึ่งเมื่อจะหุ้มก็จะสามารถหุ้มกิ่งได้ ง่าย  ส่วนการหุ้มอาจใช้วัตถุชนิดเดียว  เช่น  หญ้ามอสส์ล้วนๆ หรือกาบมะพร้าวล้วนๆ หรืออาจใช้ดินหุ้มก่อนแล้วหุ้มหญ้ามอสส์ หรือกาบมะพร้าวอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ ต้องพันหรือหุ้มวัตถุหุ้มกิ่งให้แน่นพอสมควร  อย่าให้หมุนหรือคลอนไปมาได้ง่าย และพยายามหุ้มให้กลางกระเปาะวัตถุที่หุ้มอยู่ตรงกับบริเวณที่ออกรากด้วย
     ๕). การรักษาความชื้น หลังจากตอนกิ่งแล้วโดยเฉพาะราว ๓-๕ วัน จากที่หุ้มกิ่ง จะต้องรดน้ำกระเปาะตอนหรือมัดวัตถุหุ้มกิ่งที่ตอนนั้นให้ชื้นสม่ำเสมอในการ รักษาความชื้นนี้อาจใช้วิธีรดน้ำกระเปาะที่ตอนทุกวัน  หรือใช้วิธีรดทั้งต้นแบบฝนตก  แต่ที่สะดวกก็คือใช้ผ้าพลาสติกหุ้มให้มิด  ทั้งนี้เพื่อมิให้น้ำจากกระเปาะวัตถุนั้นระเหยออกมาได้ การหุ้มผ้าพลาสติกกระเปาะที่ตอนแล้ว  ควรจะได้หุ้มเสียแต่ตอนแรกขณะที่วัตถุนั้นยังชื้นอยู่   ซึ่งการหุ้มพลาสติกในทำนองนี้จะช่วยให้กระเปาะกิ่งตอนชื้นอยู่ตลอดเวลา  จนกระทั่งกิ่งออกราก  อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการออกราก  ควรจะได้ตรวจดูกระเปาะตอนบ้าง เพราะอาจมีมดกัดผ้าพลาสติกให้เป็นรู ทำให้กระเปาะตอนแห้งได้ การแก้ไขก็คือใช้เข็มฉีดยา ฉีดน้ำเข้าไปในกระเปาะตอนราว ๕-๗วันต่อครั้ง จนกว่ากิ่งจะออกรากมากพอและตัดมาปลูกได้
     ๖). การตัดกิ่งตอน เมื่อถึงเวลาอันควร  กิ่งพืชที่ตอนไว้ก็จะเกิดราก  เวลาของการออกรากนี้จะมากน้อยต่างกัน  พวกไม้ประดับทั่วๆ ไปจะออกรากเร็วกว่าพวกไม้ผล  แต่ไม้ผลแต่ละชนิดก็จะใช้เวลาในการออกรากแตกต่างกัน  เช่น  ชมพู่จะออกรากเร็วกว่าส้ม  ส้มเร็วกว่าละมุด  เป็นต้น  แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน ๓ เดือน  ในการตัดกิ่งตอนจะต้องดูจำนวนรากว่ามีรากมากพอหรือยัง  และควรจะรอให้รากมีจำนวนมากพอได้สัดส่วนกับขนาดของกิ่งและใบ ซึ่งถ้ากิ่งยิ่งโตมีใบมากก็ต้องเป็นกิ่งที่มีรากมาก มิฉะนั้นรากจะดูดน้ำไปเลี้ยงใบไม่ทันกิ่งก็จะแห้งเหี่ยวตายไปในที่สุด หรือมิฉะนั้นก็จะต้องตัดกิ่งและใบทิ้งเสียบ้าง  อย่างไรก็ตาม พวกไม้ดอกหรือไม้ประดับ ซึ่งรากมักเจริญได้เร็วหลังจากตัดกิ่งแล้ว เช่น กุหลาบ ดอนย่า ฯลฯ  อาจตัดกิ่งได้เมื่อรากยังมีไม่มากนัก เพราะต้นพืชจะสร้างรากได้ไวหลังจากตัดมาปลูกแล้ว ส่วนพืชพวกไม้ผล จะต้องรอให้กิ่งมีรากมากพอ หรืออย่างน้อยจะต้องรอให้มีแขนงรากเกิดขึ้นให้มากพอ  ฉะนั้นการตัดกิ่งตอนพวกไม้ผล จึงจำเป็นต้องใช้เวลายาว นานกว่าไม้ประดับโดยทั่วไป
     ๗). การปลูกกิ่งตอน  กิ่งตอนที่ตัดได้อาจมีจำนวนรากมากน้อยต่างกัน  เพื่อป้องกันการเสียหายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น ควรจะได้คัดกิ่งตอนออกเป็นพวกๆ ตามความมากน้อยของรากเสียก่อน คือ คัด กิ่งที่มีรากมากและรากน้อยออกคนละพวก  พวกที่มีรากมากอาจปลูกลงกระถางหรือลงถุงปลูกได้ทันทีส่วนพวกที่รากยังไม่มากพอ  ควรจะได้ตัดแต่งกิ่งและใบออกเสียบ้าง แล้วนำไปชำรวมกันไว้ในกระบะหรือภาชนะที่เหมาะสม เพื่อรอให้รากเกิดมากขึ้นจึงจะนำไปปลูกภายหลัง  ข้อสำคัญในการปลูกกิ่งตอน คือ อย่าปลูกให้ลึกโดยเฉพาะในการใช้วัตถุปลูกที่ทึบหรืออับอากาศ เช่น ดินเหนียว เป็นต้นเพราะจะทำให้รากเจริญช้า ควรจะปลูกให้กระเปาะฃตอนโผล่พ้นดินปลูกเล็กน้อย ประมาณหนึ่งในสี่ของกระเปาะตอน จากนั้นจึงนำกระถางปลูกไปตั้งไว้ในที่ร่มรำไร คือ ที่ที่มีแสงแดดส่องเล็กน้อย   คอยพรมน้ำให้ใบกิ่งตอนชื้นอยู่เสมอๆ แต่ไม่ควรรดน้ำจนดินปลูกแฉะ และหลังจากยอดเริ่มเจริญหรือแตกยอดใหม่จึงเพิ่มแสงแดดให้มากขึ้น
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น